สรุปการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัสของประเทศ

การขับเคลื่อนงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคป่าไม้มีความสำคัญมากขึ้น หลังจากที่ประเทศไทยได้ประกาศยกระดับเป้าหมายในปี ค.ศ. 2030 จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 40 % มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ในปี 2065 

ที่ผ่านมา TEI ร่วมกับคณะผู้เชี่ยวชาญ จัดทำร่างกลยุทธ์เรดด์พลัสของประเทศ ให้ความสำคัญต่อประโยชน์จากภาคป่าไม้ทั้งในรูปคาร์บอนและการบริการจากระบบนิเวศป่าไม้ เน้นการกระจายผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม การออกแบบกรอบการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมถึงระบบข้อมูลเพื่อการติดตามประเมินผลและการมีกลไกรับเรื่องร้องทุกข์ กรณีที่อาจเกิดผลกระทบจากกิจกรรมเรดด์พลัส และได้ถอดบทเรียนและความสำเร็จของการดำเนินงานศูนย์ขับเคลื่อนเรดด์พลัส ระดับพื้นที่ ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีการดำเนินงานหลายประการที่สำเร็จเป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์ต่อชุมชนนำร่อง จึงควรมีการต่อยอดและขยายผลการดำเนินงานให้กว้างขวางขึ้น
21 ธค. TEI ร่วมกับ อส. จัดการสัมมนาแบ่งปันบทเรียนและความสำเร็จศูนย์ขับเคลื่อนเรดด์พลัสและสรุปผลการดำเนินงานโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัสของประเทศ ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.รุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานฯ คุณสุนีย์ ศักดิ์  คุณสิทธิชัย เสรีส่งแสง ผู้อำนวยการสำนักฯ รวมทั้ง ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย คุณวราภรณ์ หิรัญวัฒน์ศิริ ผู้แทนธนาคารโลก รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย หัวหน้าศูนย์ขับเคลื่อนเรดด์พลัสฯ และวิทยากรจาก สผ. FAO กฟผ. และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมีผู้เข้าร่วม (on-site/ on-line) กว่า 200 คน

REDD+ (จะเป็น) “โอกาสหรือความท้าทาย” ต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคป่าไม้กับทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคต ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการที่ต้องบูรณาการความร่วมมือและสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างรอบด้าน สมดุล และยั่งยืน