12 เมษายน วันป่าชุมชนชายเลนไทย

กลุ่มงาน: ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

รู้หรือไม่! ป่าชายเลนในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ที่เป็นแบบนั้นก็เพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ ภาครัฐเอาจริงเอาจังในการทวงคืนผืนป่าและป้องกันการบุกรุกทำลายป่าชายเลน และหลายฝ่ายได้ช่วยกันปลูกฟื้นฟูป่าชายเลน นอกจากนี้ ยังมีผลจากการขยายตัวตามธรรมชาติของพืชป่าชายเลนในบริเวณตะกอนปากแม่น้ำดังข้อมูลของข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ป่าชายเลน นับเป็นสังคมพืชที่มีหลากหลายชนิดพันธุ์ที่พบบริเวณชายฝั่งและปากแม่น้ำที่มีน้ำกร่อย ซึ่งมีตะกอนถูกพัดพามารวมตัวกันเป็นหาดเลนกว้าง และยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด ทั้งนก ปลา สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และสัตวไม่มีกระดูสันหลังต่าง ๆ ป่าชายเลนยังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน แหล่งอาหารของสัตว์น้ำ แหล่งพึ่งพิงของชุมชนชายฝั่ง และที่สำคัญป่าชายเลนได้ช่วยปกป้องการพังทลายของชายฝั่งจากคลื่นลม และสามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยนักวิทยาศาสตร์ระบุว่าป่าชายเลนมีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนมากกว่าป่าไม้เขตหนาวหรือป่าฝนเขตร้อนชื้น ราว 3-4 เท่า ด้วยความสำคัญของป่าชายเลน คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันที่ 12 เมษายนของทุกปีเป็น “วันป่าชุมชนชายเลนไทย” เพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงคุณค่าของป่าชายเลน  

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI ก็ได้มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูป่าชายเลน โดยร่วมกับองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ TBCSD บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย (จำกัด) บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) และอีกหลายหน่วยงาน ร่วมปลูกต้นโกงกางและพันธุ์ไม้ในป่าชายเลนไปแล้วกว่าแสนต้น รวมทั้งได้ส่งเสริมให้ชุมชน ท้องถิ่น และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูป่าชายเลน รวบรวมองค์ความรู้ ภูมิปัญญา และประสบการณ์ต่าง ๆ ในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพในผืนป่าชายเลนอย่างชาญฉลาดและยั่งยืน


เรียบเรียงโดย: พวงผกา  ขาวกระโทก นักวิจัย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
แหล่งข้อมูล: กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน