เตรียมพร้อมเมืองและธรรมชาติ ในการตั้งรับปรับตัวต่อผลกระทบจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศ (In Thai)

จังหวัดสุราษฎร์ธานี 1 ใน 2 พื้นที่นำร่องดำเนินการเสริมสร้างความสามารถของเมืองและธรรมชาติ ในการตั้งรับปรับตัวต่อผลกระทบจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศ โดยใช้ธรรมชาติเป็นฐาน (Nature-based Solutions_NbS) เพื่อปกป้อง จัดการและฟื้นฟูธรรมชาติอย่างยั่งยืนและปรับเปลี่ยนระบบนิเวศในรูปแบบที่สามารถจัดการกับความท้าทายทางสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพและยืดหยุ่น เพื่อการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีและเกิดผลประโยชน์ต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

30 ตุลาคม  สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) และกรมทรัพยากรน้ำ ได้สำรวจพื้นที่ตำบลคลองฉนากและตำบลขุนทะเล อำเภอเมือง ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและผู้นำชุมชนในพื้นที่ แลกเปลี่ยนข้อมูล สะท้อนปัญหา และแนวทางขับเคลื่อนการเสริมสร้างความสามารถของเมืองและธรรมชาติ ประกอบการวางแผนดำเนินงานให้เกิดการตั้งรับปรับตัวต่อผลกระทบจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศ โดยใช้ธรรมชาติเป็นฐานที่เหมาะสมกับพื้นที่ 

นอกจากนั้นวันที่ 31 ตุลาคม TEI โดยคุณพวงผกา ขาวกระโทก ผู้จัดการโครงการ ร่วมกับ  IUCN และหน่วยงานภาคี จัดประชุมเชิงปฎิบัติการคณะกรรมการที่ปรึกษาระดับจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยได้รับเกียรติจากนายมนตรา พรมสินธุ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวเปิดการประชุม และนายณัฐพร รักบำรุง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการ ทสจ.สุราษฎร์ธานี กล่าวรายงานและทำหน้าที่ประธานในการประชุม พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม และเครือข่าย ทสม. อสทล. และชุมชนในพื้นที่ร่วมประชุมและแลกเปลี่ยนภาพรวมโครงการ ตัวชี้วัด ผลลัพธ์ผลผลิต และร่วมทบทวนแผนงาน ความเป็นไปได้ของการดำเนินในพื้นที่ให้เกิดการพัฒนาที่ช่วยปกป้อง จัดการและฟื้นฟูธรรมชาติ และรักษาสมดุลของเมืองและธรรมชาติ 

พร้อมนี้ IUCN ได้นำเสนอตัวอย่างพื้นที่ที่มีความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้มาตรการ NbS มาสาธิตการพัฒนาพื้นที่โดยใช้ธรรมชาติเป็นฐาน ประกอบด้วย พื้นที่เรือนจำเก่าเตรียมปรับเป็นพื้นที่สีเขียวหรือสวนสาธารณะในเมือง พื้นที่บางใบไม้ พื้นที่ที่ชุมชนพึ่งพาอาศัยระบบนิเวศและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศสำคัญ และพื้นที่ป่าชายเลนตำบลคลองฉนาก พื้นที่เสื่อมโทรมที่เกิดจากการถูกบุกรุกแผ้วถางมากกว่า 100 ไร่ และพื้นที่ป่าพรุในเมือง มากกว่า 70 ไร่ หนึ่งในพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความหลากหลายทางชีวภาพในเขตมหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี โดยทั้งสี่พื้นที่สามารถนำมาตรการ NbS ทั้งมาตรการการออกแบบสวนสาธารณะฯ มาตรการการรักษาพืชริมน้ำฯ มาตรการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าชายเลน และมาตรการการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้ฯ มาปรับใช้