มลพิษไร้พรมแดน ไทยพร้อมหรือยัง เร่งเครื่องใช้งานวิจัยเทคโนโลยี แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม (In Thai)

17 กรกฎาคม 2568  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม โดยมี ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ในฐานะกรรมการบริหารศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “มลพิษไร้พรมแดน: ไทยในกระแสโลกกับบทบาทของนาโนเทคโนโลยีในศตวรรษแห่งสิ่งแวดล้อม”

ดร.วิจารย์ กล่าวถึงสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลก โดยเฉพาะประเด็น มลพิษทางอากาศ อย่าง PM2.5 ที่แม้จะไม่ส่งผลต่อชีวิตโดยฉับพลัน แต่มีผลต่ออายุของประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ คือ PM2.5 ไม่ตายทันที แต่ทำให้อายุสั้นลง รวมถึงเรื่องของมลพิษพลาสติก โดยเฉพาะไมโครพลาสติก ซึ่ง 2 ประเด็นนี้เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ไม่สามารถแก้ไขได้เพียงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ต้องอาศัยบทบาทของนักวิจัยไทยและหน่วยงานที่สามารถนำไปปฎิบัติ ดังนั้น การร่วมมือครั้งนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการมีเครื่องมือตรวจวัดและการวิจัยเชิงลึกที่จะช่วยให้เกิดการจัดการที่แม่นยำ มีประสิทธิภาพ และเชื่อมโยงกับมาตรฐานสากล

นอกจากนี้ ดร.วิจารย์ ยังฝากไว้ว่าประเทศไทยมีบทบาทในกระแสโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้จะมีความพยายามในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) แต่ยังมีหลายเป้าหมายที่ประเทศไทยยังคงท้าทาย เช่น เป้าหมายที่ 12 ว่าด้วยการบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน, เป้าหมายที่ 13 ด้านการรับมือกับเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป้าหมายที่ 14 ทรัพยากรทางทะเล และเป้าหมายที่ 15 ปกป้อง ฟื้นฟู และส่งเสริมการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ การลงนามความความร่วมมือระหว่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ถือเป็นจุดร่วมกันในการผลักดันนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการบริหารจัดการเชิงระบบเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ซับซ้อนเหล่านี้