โลกร้อนซ้ำเติมคนจนเมือง ถึงเวลาต้องทบทวนนโยบาย (In Thai)

โลกร้อน ในมิติของเมือง เรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด

ภาวะโลกร้อน เป็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คน ทั้งลักษณะ “การเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป” (slow onset events) ที่เกิดขึ้นช้า ๆ สะสมต่อเนื่อง เช่น อุณหภูมิเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น หรือความแห้งแล้งยาวนาน และ “เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว” (extreme events) ที่เกิดขึ้นเฉียบพลันและรุนแรง เช่น พายุฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน หรือคลื่นความร้อน

ในเขตเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่หนาแน่นและเปราะบาง การเปลี่ยนแปลงทั้งสองแบบนี้ไม่ได้เกิดแยกจากกัน หากแต่ส่งผลเสริมกันอย่างซับซ้อน เมืองจึงเผชิญความเสี่ยงทั้งในระยะสั้นจากภัยพิบัติ และในระยะยาวจากความร้อนสะสม พื้นที่สีเขียวที่ลดลง และสาธารณูปโภคที่เสื่อมโทรม ลักษณะทางกายภาพของเมืองได้เป็นตัวเร่งให้วิกฤตภูมิอากาศรุนแรงขึ้น พื้นผิวคอนกรีตที่ปูเต็มพื้นที่ ตึกสูงที่กักเก็บความร้อน และพื้นที่สีเขียวที่มีน้อย ล้วนส่งผลให้อุณหภูมิในเขตเมืองสูงกว่าพื้นที่รอบนอก



ภาวะโลกร้อนไม่ได้เป็นเพียงปัญหาของอนาคตอีกต่อไป หากแต่เป็นวิกฤตที่ปรากฏชัดเจนในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในเขตเมืองที่หนาแน่นทั้งผู้คน อาคาร และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ  ในปี 2566 กรุงเทพมหานครเริ่มมีอุณหภูมิสูงเกิน 40°C หลายวันติดต่อกัน ซึ่งผิดปกติจากค่าเฉลี่ยในอดีตอย่างมีนัยสำคัญ และเกิดขึ้นในอีกหลายๆ เมือง

คนจนเมือง ความเปราะบางที่ซ่อนอยู่ในเงานโยบาย

แม้เมืองจะเป็นศูนย์กลางของโอกาสทางเศรษฐกิจและบริการสาธารณะ แต่ในอีกด้านหนึ่ง เมืองยังเป็นพื้นที่ที่ความเหลื่อมล้ำฝังรากลึก โดยเฉพาะกับกลุ่ม “คนจนเมือง” ซึ่งมักไม่ปรากฏอยู่ในนโยบาย อย่างเช่น ชุมชนแออัดจำนวนมากกระจายตัวอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ทั้งน้ำท่วม ขาดระบบระบายน้ำ การทำมาหากินในพื้นที่โล่งแจ้ง อยู่ใกล้แหล่งมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือพื้นที่ที่ร้อนจัดเนื่องจากขาดร่มเงาและช่องลม ในขณะที่พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน เช่น เครื่องปรับอากาศ น้ำสะอาด หรือบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพได้เท่าเทียมกับคนในย่านเศรษฐกิจ



ปัญหาไม่ได้อยู่เพียงที่สภาพความเป็นอยู่เท่านั้น แต่ยังอยู่ที่ “การมองไม่เห็น” คนกลุ่มนี้ในกระบวนการออกแบบและจัดทำนโยบายสาธารณะอีกด้วย นโยบายด้านการรับมือภัยพิบัติ ภูมิอากาศ หรือการพัฒนาเมืองส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญกับภาพรวมเชิงโครงสร้าง ขณะที่มิติของความเปราะบางรายพื้นที่ รายกลุ่ม หรือรายบุคคลกลับถูกมองข้าม

การปรับตัวที่ผิดพลาดของเมือง ที่ไม่ควรมองข้าม

การปรับตัวที่ผิดพลาดหรือ maladaptation เป็นนโยบายหรือแนวทางที่แม้มีเจตนาเพื่อลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่กลับส่งผลเสียในระยะยาว หรือสร้างผลกระทบด้านลบกับกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะคนจนเมือง อย่างกรณีการสร้างพนังกั้นน้ำปกป้องเขตเศรษฐกิจ กลับทำให้น้ำไหลท่วมชุมชนแออัดที่อยู่ริมคลอง การพัฒนาพื้นที่สีเขียวหรือ Smart City ที่เป็นข้ออ้างเพื่อสิ่งแวดล้อม แต่ต้องรื้อถอนชุมชนโดยขาดการดูแลและจัดสรรพื้นที่อยู่ใหม่

อีกหลายลักษณะของ maladaptation ที่เป็นกันทั่วไป ก็คือ การเพิ่มพื้นคอนกรีตจนลดพื้นที่ซับน้ำ ยกถนนแต่ไม่ปรับปรุงระบบระบายน้ำ ส่งผลให้น้ำท่วมขังในชุมชน หรือการสร้างตึกสูงที่ขวางทางลม ทำให้อากาศร้อนและหมุนเวียนไม่ได้ โดยเฉพาะในพื้นที่แน่นหนาอย่างชุมชนแออัด ที่อยู่อาศัยมักเป็นเพิงสังกะสีหรือบ้านชั้นเดียวที่สะสมความร้อนรุนแรงกว่าอาคารในเขตเศรษฐกิจ กลุ่มประชากรเหล่านี้ยังเข้าถึงเครื่องปรับอากาศหรือมาตรการช่วยเหลือได้น้อยกว่ามาก

Maladaptation ยังอาจแฝงอยู่ในนโยบายที่เพิ่มภาระทางเศรษฐกิจโดยไม่ตั้งใจ เช่น การส่งเสริมการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงานหรือฉนวนกันร้อน โดยไม่มีมาตรการช่วยเหลือคนจนเมือง การขึ้นราคาค่าน้ำค่าไฟเพื่อลดการใช้ทรัพยากรและพลังงาน แต่ไม่ได้คำนึงถึงกลุ่มที่มีทางเลือกจำกัด ซึ่งสะท้อนว่าการปรับตัวโดยไม่เข้าใจบริบทสังคมอย่างครอบคลุม จะยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำและซ้ำเติมความเปราะบางของกลุ่มเป้าหมายเดิมอย่างรุนแรง

นโยบายภูมิอากาศเพื่อความเป็นธรรมสำหรับเมือง

บางเมืองเริ่มใช้ “ข้อมูลความเสี่ยงภัย” และ “นโยบายสาธารณะ” เป็นเครื่องมือ ในการออกแบบเมืองอย่างยืดหยุ่น ให้ความสำคัญกับคนจนเมือง บูรณาการด้านสังคมกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถเป็นแนวทางให้กับหลายเมืองได้ลงมือทบทวนนโยบายด้านภูมิอากาศ ในการดูแลคนทุกกลุ่มอย่างครอบคลุม

1. รักษาพื้นที่สีเขียวและพื้นที่ซับน้ำ

ควรปกป้องพื้นที่สีเขียวและต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่ พร้อมทั้งฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำและระบบซับน้ำ เช่น คลอง แก้มลิง หรือสวนซับน้ำ ออกมาตรการกำหนดสัดส่วนพื้นที่น้ำซึมผ่านสำหรับสิ่งปลูกสร้าง เพื่อบรรเทาน้ำท่วมขังในฤดูฝนและเก็บกักน้ำในฤดูแล้ง เพื่อช่วยลดอุณหภูมิในเมือง โดยเฉพาะชุมชนแออัด ซึ่งมักขาดพื้นที่เปิดโล่งและได้รับผลกระทบจากความร้อน และลดความเสี่ยงภัยน้ำท่วม  
บางเมืองในประเทศไทยและต่างประเทศเริ่มหันมาทบทวนวิธีการแบบนี้ กรณีสวน “Bishan Park” ของประทศสิงคโปร์ เป็นตัวอย่างการพัฒนาพื้นที่ในเมือง ที่ไม่เพียงแต่ช่วยในระบายน้ำและเก็บกักน้ำเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้พื้นที่เหล่านี้เพื่อเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจในชุมชน และยังมีส่วนสนับสนุนกลยุทธ์การลดความเสี่ยงต่อน้ำท่วมอีกด้วย



2. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เอื้อต่อการเดิน


ควรออกแบบโครงสร้างพื้นฐานที่ปลอดภัยสำหรับการเดินเท้า เช่น ทางเท้าที่มีร่มเงา จุดพักรอที่หลบแดด โดยเฉพาะในพื้นที่ที่แรงงานนอกระบบหรือผู้สูงอายุต้องเดินทางด้วยตนเองในสภาพอากาศร้อนจัด การส่งเสริมการเดินแทนการใช้รถยนต์ยังช่วยลดมลพิษทางอากาศและฝุ่น PM2.5 ซึ่งกระทบต่อสุขภาพของคนจนเมืองอย่างมาก  
เมืองที่ยังมีผู้มีรายได้น้อยอยู่เป็นคนจำนวนมาก อย่างกรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล เมืองเม็กซิโก ซิตี้ ประเทศเม็กซิโก เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม ได้มีปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานสำหรับคนเดินเท้า โดยมีการจัดสรรงบประมาณในการปรับถนนในเขตยากจนให้เอื้อต่อคนเดินเท้า มีร่มเงา จุดพักผ่อน รักษาต้นไม้ใหญ่ตามถนนสายหลักในเขตชุมชนรายได้น้อย เพื่อช่วยบรรเทาความร้อนและเพิ่มความปลอดภัย โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุและแรงงานนอกระบบ  

3. เพิ่มการเข้าถึงอุปกรณ์และที่อยู่อาศัยรองรับสภาพอากาศ 

ควรสนับสนุนการเข้าถึงวัสดุและอุปกรณ์ที่ช่วยปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้รองรับกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง เช่น ฉนวนกันความร้อน หลังคาสะท้อนแสง ช่องลมระบายอากาศ หรือการยกพื้นบ้านเพื่อช่วยระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม นอกจากนี้ควรพัฒนา “แบบบ้านราคาต่ำ สู้ภัยโลกร้อน”  เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถปรับปรุงคุณภาพชีวิตได้จริง  

เริ่มมีองค์กรต่าง ๆ เริ่มสนับสนุนแบบบ้านราคาประหยัดที่ยกพื้นหนีน้ำท่วม มีการระบายอากาศ ใช้วัสดุกันความร้อน หลังคาสะท้อนแสง และฉนวนราคาถูก เพื่อช่วยปรับปรุงสภาพชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้น อย่างกรณีองค์กร Estero de San Miguel Housing ประเทศฟิลิปปินส์  องค์กร Incremental Housing & Climate Resilience เมืองเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ ส่วนโครงการ Kampung Improvement Program ประเทศอินโดนีเซีย นอกจากช่วยเรื่องการปรับปรุงที่อยู่อาศัยแล้ว ยังครอบคุลมระบบระบายน้ำและการปรับปรุงถนนในชุมชนแออัด ขณะที่ World Bank ให้คำแนะนำแก่กรุงเทพมหานคร ผ่านแผน “Shaping a Cooler Bangkok” เน้นมาตรการบ้านในเมือง เช่น หลังคาสะท้อนแสง ฉนวน และการสร้างความร่มรื่นด้วยโครงสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (green infrastructure)

4.  คุ้มครองผู้ประกอบการและแรงงานกลางแจ้ง

พ่อค้าแม่ค้า คนเก็บของเก่า คนขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง และคนงานก่อสร้าง ล้วนเผชิญความเสี่ยงโดยตรงจากคลื่นความร้อนในเมือง ควรมีมาตรการป้องกันเฉพาะ เช่น การจัดพื้นที่พักที่มีร่มเงา จุดน้ำดื่มสาธารณะ การปรับเวลาและระยะเวลาการทำงานในช่วงที่อุณหภูมิสูง การประกันภัยคลื่นความร้อน และการเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างรวดเร็ว



ทั้งนี้ เพื่อป้องกันโรคที่เกี่ยวข้องกับความร้อน เช่น โรคลมแดด (heatstroke)  ความดันสูง และภาวะขาดน้ำ รวมถึงการมีแผนปฏิบัติการความร้อนและระบบเตือนคลื่นความร้อน พร้อมฝึกอบรมเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพในช่วงที่มีความร้อนจัดของประชาชน

มาตรการนี้มีความน่าสนใจเป็นอย่างมากสำหรับการออกนโยบายของประเทศไทย ซึ่งน่าจะศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม จากมาตรฐาน Heat Illness Prevention Standards ของรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา แผน Heat Action Plan รัฐคุชราต ประเทศอินเดีย นอกจากนี้ เว็บไซต์ healthandsafetyinternational.com เพิ่งเผยแพร่การประกาศมาตรการใหม่เพื่อคุ้มครองแรงงานกลางแจ้งช่วงคลื่นความร้อน ของประเทศกรีซ โดยกระทรวงแรงงานและประกันสังคม และการเผยแพร่ข้อมูลของสำนักข่าว Reuters เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎระเบียบด้านสุขภาพแรงงานเพื่อป้องกันโรคลมแดดของประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

5.  ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการออกแบบเมือง

ควรเปิดพื้นที่ให้คนในชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางและออกแบบนโยบายต่าง ๆ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม การวางผังเมือง และการรับมือภัยพิบัติ การฟังเสียงจากผู้มีประสบการณ์ตรงจะช่วยให้โครงการต่าง ๆ มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับบริบทจริง และลดความเสี่ยงจากการปรับตัวที่ผิดพลาดในระยะยาว

ที่ผ่านมา หลายเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมในการออกแบบเมืองมากขึ้น แต่ยังขาดมุมมองด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่เป็นการรับมือกับภัยพิบัติเป็นครั้งคราว จึงควรเพิ่มใช้ข้อมูลและแผนที่เสี่ยงภัย เปิดโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยและชุมชนแออัดได้ร่วมวางแผนจัดการพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานรัฐ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว

การรับมือกับภาวะโลกร้อนไม่ใช่เพียงการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานหรือมาตรการเชิงเทคนิคเท่านั้น หากแต่ต้องเริ่มจากการเห็นและเข้าใจ “ความเปราะบาง” ของคนในเมือง โดยเฉพาะกลุ่มที่มักถูกมองข้ามในนโยบายหลัก การออกแบบเมืองที่เป็นธรรมจึงต้องสร้างบนฐานของความร่วมมือ การมีส่วนร่วม และความเกื้อกูล ไม่ใช่แค่เพื่อคนจนเมือง แต่เพื่อความอยู่รอดของทุกคนในสังคมเมืองที่ต้องเผชิญกับวิกฤตโลกร้อนร่วมกัน
ขอขอบคุณ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS ที่ให้ความสนใจและจัดการเสวนาเพื่อร่วมกันหาทางออกให้กับคนจนเมือง  
คลิกชมการเสวนาย้อนหลัง https://youtu.be/HABefO_QBag

Source: TEI

Compiled by:

Dr. Benjamas Chotthong

Director of Project Development and Planning Program

Tags:
Related Article: