26 December - National Wildlife Protection Day

Thematic Areas: Land Resources

จากการค้าขายสัตว์ป่ากับต่างชาติในอดีต อีกทั้งต่อมามีการเพิ่มของประชากรอย่างต่อเนื่อง เกิดการขยายตัวของพื้นที่เกษตร ชุมชน และแหล่งท่องเที่ยวซึ่งบุกรุกพื้นที่ป่าในหลายพื้นที่ ทำให้ผืนป่าซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าลดลงอย่างรวดเร็ว ถึงขั้นที่ทำให้สัตว์ป่าบางชนิดได้สูญพันธุ์ไป จึงได้มีการประกาศพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 ขึ้น เมื่อ 26 ธันวาคม 2503 ซึ่งเป็นกฎหมายเพื่อการปกป้องทรัพยากรสัตว์ป่าฉบับแรกของประเทศไทย จึงได้กำหนดให้ 26 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ เพื่อสร้างความตระหนักถึงคุณค่าและอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าให้อุดมสมบูรณ์

ปัจจุบัน สถานการณ์ด้านสัตว์ป่าก็ยังไม่ดีขึ้น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รายงานว่ามีคดีเกี่ยวกับสัตว์ป่ากว่า 6 พันคดี ในช่วง พ.ศ. 2556-2566 ส่วนใหญ่เป็นการลักลอบล่าสัตว์ป่าเพื่อการค้า ซึ่งทำได้ง่ายขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ กลายเป็นธุรกิจข้ามชาติที่น่ากังวล โดยพบว่าสัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกนกถูกลักลอบล่ามากที่สุด อีกทั้งยังเกิดการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติและแหล่งอาหาร ทำให้สัตว์ป่าออกมาหากินนอกเขตป่า สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน พืชผลทางการเกษตรกรรม หรือต่อชีวิตประชาชน นอกจากนี้ โรคจากสัตว์สู่คนเป็นอีกประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กัน เช่น โรคต่างถิ่นที่มาพร้อมกับนกอพยพ เชื้อโรคจากการบริโภคสัตว์ป่า ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดโรคอุบัติใหม่ได้

จากปัญหาที่สั่งสมมายาวนานทำให้มีสัตว์ป่าซึ่งมีสถานภาพสูญพันธุ์แล้ว จำนวน 8 ชนิด ได้แก่ สมัน กูปรี แรด กระซู่ นกหัวขวานด่างหน้าผากเหลือง นกช้อนหอยใหญ่ นกพงหญ้า และปลาหวีเกศ สัตว์ป่าที่มีสถานภาพสูญพันธุ์ในธรรมชาติ จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ นกกระสาคอดำ นกช้อนหอยดำ ตะโขง และปลาเสือตอ และยังมีสัตว์ป่าอีกหลายชนิดที่อยู่ในสภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง เช่น นกแต้วแล้วท้องดำ จระเข้น้ำจืด เสือโคร่ง เป็นต้น

ลองคิดดูว่าหากสัตว์ป่าสูญพันธุ์และลดจำนวนลงไปเรื่อย ๆ จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง? แน่นอนว่าระบบนิเวศของผืนป่าและพื้นที่ทางธรรมชาตินั้น ๆ จะเปลี่ยนแปลงจนสูญเสียความสมดุล เพราะสัตว์ป่าทุกชนิดมีความสำคัญในห่วงโซ่อาหาร ทำให้เกิดการควบคุมประชากรพืชและสัตว์ในระบบนิเวศ สัตว์ป่าหลายชนิดเกื้อกูลกัน บางชนิดช่วยแพร่กระจายพันธุ์พืชและให้มูลที่เป็นปุ๋ยชั้นดี เราจึงต้องร่วมกันสอดส่องดูแลและคุ้มครองทรัพยากรสัตว์ป่าทั้งในถิ่นที่อยู่อาศัยและนอกถิ่นที่อยู่อาศัย เพื่อรักษาระบบนิเวศป่าและโลกที่เราใช้ร่วมกัน


เรียบเรียงโดย รัตนพร เจริญชาติ นักวิจัย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล
เว็บไซต์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2565