14 มกราคม วันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ (In Thai)

Thematic Areas: Land Resources

อนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน ผ่านการมีส่วนร่วมและการสร้างเศรษฐกิจฐานราก

ปัจจุบันสังคมในวงกว้างต่างตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ที่มีต่อมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นป่าอนุรักษ์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีจุดประสงค์เพื่อรักษาระบบนิเวศและเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ป่าชุมชนที่คนในชุมชนร่วมกันดูแลรักษาและวางกฎกติกาในการใช้ประโยชน์ หรือป่าในเมืองที่นอกจากทำหน้าที่เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของคนเมืองแล้ว ยังเป็นปอดที่ช่วยกรองและฟอกอากาศให้สะอาดในยามที่ฝุ่นพิษ PM2.5 กำลังปกคลุมเมืองเช่นทุกวันนี้

ป่าไม้เชื่อมโยงกับความหลากหลายทางชีวภาพอย่างแยกกันไม่ออก จากรายงานของนักวิจัยพบว่าในบรรดาสิ่งมีชีวิตในโลกซึ่งจำแนกคร่าวๆ เป็นสี่กลุ่มได้แก่ สัตว์มีกระดูกสันหลัง พืช เห็ดรา และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง มีเพียงสองกลุ่มแรกคือสัตว์มีกระดูกสันหลังและพืชเท่านั้นที่ได้รับการค้นพบและจำแนกตามหลักวิทยาศาสตร์แล้วมากกว่าครึ่งของจำนวนชนิดที่ประมาณว่ามีอยู่ในโลก ส่วนอีกสองกลุ่มหลังได้รับการค้นพบและจำแนกแล้วเพียงร้อยละ 6 และร้อยละ 17 ของจำนวนชนิดที่นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่ามีอยู่ในโลก (Niskanen et al., 2023) สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ส่วนใหญ่พบเจอในพื้นที่ป่า หากไม่มีการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่เหมาะสมแล้ว สิ่งมีชีวิตจำนวนมากอาจสูญหายไปก่อนที่มนุษย์จะตระหนักถึงการดำรงอยู่ของชนิดพันธุ์เหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพให้ประสบความสำเร็จและยั่งยืนต้องทำควบคู่ไปกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและธรรมาภิบาลในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์จากป่า กลุ่มสตรีและกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งโครงการภุมรี...พลังสตรีรักษ์สิ่งแวดล้อมที่สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยร่วมกับบริษัทราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดน่านก็เป็นหนึ่งในการทำงานเพื่อส่งเสริมบทบาทและการมีส่วนร่วมของสตรีและกลุ่มชาติพันธุ์ในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ของตน โครงการส่งเสริมการใช้ประโยชน์พรุควนเคร็งอย่างยั่งยืน และการศึกษาห่วงโซ่มูลค่าไผ่ในประเทศไทย เป็นการนำทรัพยากรชีวภาพมาใช้ประโยชน์ในระดับเศรษฐกิจฐานราก ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางสำคัญในการสร้างแรงจูงใจให้ชุมชนและภาคธุรกิจหันมาอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนเช่นกัน


เรียบเรียงโดย
ดร.จีรนุช ศักดิ์คำดวง ผู้เชี่ยวชาญ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
Niskanen, Tuula, Lücking, Robert, and Dahlberg, Anders. 2023. Pushing the Frontiers of Biodiversity Research: Unveiling the Global Diversity, Distribution, and Conservation of Fungi. September 2023 Annual Review of Environment and Resources 48(1). DOI:10.1146/annurev-environ-112621-090937