13 March - National Elephant Day (In Thai)

Thematic Areas: Land Resources

รู้หรือไม่..? ช้างบ้านและช้างป่าที่พบได้ในประเทศไทยนั้น เป็นช้างเอเชีย (Elephas maximus) ซึ่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดใหญ่ ชอบอยู่ในที่อากาศเย็น อยู่ตามป่าที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์และมีแหล่งน้ำธรรมชาติ ช้างไทยซึ่งเป็นช้างเอเชียความสูงประมาณ 3 เมตร ปลายงวงมีจงอยเดียว มีงาเฉพาะเพศผู้ โดยทั่วไปมีความแตกต่างกับช้างอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นช้างแอฟริกา (Loxodonta Africana) ซึ่งมีขนาดและใบหูใหญ่กว่าช้างเอเชีย หลังแอ่นบริเวณกลางลำตัว ขณะที่หลังช้างเอเชียมีลักษณะโค้งลง อันเป็นลักษณะที่สังเกตได้ง่าย

สำหรับช้างไทยที่มีความผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทยมาช้านาน อีกทั้งเคยเป็นพาหนะคู่พระมหากษัตริย์ในอดีต แต่ปัจจุบันคนกับช้างเริ่มห่างออกไปทุกขณะ แม้ประชากรช้างมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งสวนทางกับพื้นที่อยู่อาศัยตามป่าธรรมชาติที่ลดลงเรื่อย ๆ จากการตัดไม้ทำลายป่า การขยายพื้นที่ชุมชนหรือพื้นที่เกษตร รวมถึงการที่ป่าผืนใหญ่ถูกแบ่งแยกเป็นหย่อมป่า ทำให้ช้างป่าออกมานอกพื้นที่ป่าธรรมชาติและเข้ามาในชุมชน เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปีและมีแนวโน้มว่าจะขยายตัวมากขึ้นในอนาคต ประเทศไทยจึงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และจัดการช้าง เพื่อให้การดำเนินงานในภาพรวมเป็นไปอย่างมีระบบ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้าง มีนโยบายเกี่ยวกับการจัดการช้างป่าและการบริการจัดการพื้นที่ จัดการประชากรช้างป่าและแก้ไขปัญหาระหว่างคนกับช้าง เกิดการอนุรักษ์และจัดการช้างป่าอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน

นอกจากนี้ ได้กำหนดให้วันที่ 13 มีนาคมของทุกปี เป็นวันช้างไทย เพื่อให้คนไทยหันมาสนใจช้าง รักและหวงแหนช้าง ให้ความช่วยเหลือการอนุรักษ์ช้าง ตลอดจนช่วยกันดูแลและฟื้นฟูผืนป่าธรรมชาติซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของช้าง


เรียบเรียงโดย รัตนพร เจริญชาติ นักวิจัย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล
รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2566
เว็บไซต์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
เว็บไซต์ Human Elephant Voice