21 March - World Forestry Day (In Thai)

Thematic Areas: Land Resources

แนวทางการคุ้มครองป่าไม้นอกพื้นที่อนุรักษ์

ทั่วโลกต่างตระหนักและเห็นพ้องต้องกันว่าการให้สิทธิขาดในการบริการจัดการทรัพยากรป่าไม้แก่ภาครัฐเพียงฝ่ายเดียวนั้นไม่ใช่หนทางที่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่โลกกำลังเผชิญกับภาวะโลกเดือดที่โลกต้องการพื้นที่ป่าไม้มากขึ้นเพื่อการดูดซับและเก็บกักก๊าซเรือนกระจก การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ โดยเฉพาะชุมชนท้องถิ่นที่พึ่งพิงป่าหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวิถีชีวิตพึ่งพาและใช้ประโยชน์จากป่าไม้ช่วยให้การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังที่ธนาคารโลกได้ระบุว่าชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วโลกได้ช่วยกันปกป้องและคุ้มครองดูแลพื้นที่ป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพของโลกที่เหลืออยู่ได้กว่าร้อยละ 80 (World Bank, 2023)

เพื่อตอบสนองแนวโน้มด้านการอนุรักษ์ของโลก รัฐบาลไทยได้ตั้งเป้าหมายการเดินหน้าสู่การมีพื้นที่คุ้มครองให้ได้ถึงร้อยละ 30 จากปัจจุบันร้อยละ 20 ของพื้นที่บนบก และร้อยละ 5 ของพื้นที่ทางทะเลในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งนับเป็นภารกิจที่ยากยิ่งหากปราศจากการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชน ดังนั้นแนวทางที่จะเอื้อต่อการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ให้เข้ามามีบทบาทในการคุ้มครองพื้นที่ป่าไม้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง นอกจากนั้นการให้ความสำคัญกับการคุ้มครองพื้นที่ป่าไม้อื่น ๆ เช่น ป่าหัวไร่ปลายนา ป่าปู่ตา ป่าในโรงเรียน ป่าในวัด โดยเฉพาะวัดป่าหลายแห่งทั่วประเทศที่มีการดูแลรักษาพื้นที่ป่าไม้ ป่าสาธารณะ ฯลฯเพื่อการใช้ประโยชน์ของชุมชน เหล่านี้ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการคุ้มครองป่าในพื้นที่อนุรักษ์

แนวทางหนึ่งที่น่าสนใจคือมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ภูมิศาสตร์นอกเขตพื้นที่คุ้มครอง (Other Effective Conservation Mechanisms: OECMs) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย 30x30 ของ กรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลกทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค (Thailand 30x30 initiative, 2022) OECMs ช่วยให้ขอบเขตการคุ้มครองป่าไม้ขยายกว้างขึ้นนอกเหนือจากพื้นที่อนุรักษ์หรือพื้นที่ป่าตามกฎหมายต่าง ๆ ตัวอย่างพื้นที่ที่มีศักยภาพสำหรับมาตรการ OECMs ในประเทศไทย ได้แก่ พื้นที่คุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อม พื้นที่สงวนชีวมณฑลบนบก และป่าไม้ที่บริหารจัดการโดยชุมชน เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าการจะบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ให้ยั่งยืนนั้น นอกจากเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เข้ามามีส่วนร่วมแล้ว มาตรการหรือแนวทางใหม่ ๆ ที่คำนึงถึงการคุ้มครองพื้นที่ป่าไม้นอกพื้นที่อนุรักษ์หรือพื้นที่ป่าตามกฎหมายก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน


อ้างอิง
https://www.thailand30by30.net/
https://www.worldbank.org/en/news/feature/2023/08/09/empowering-indigenous-peoples-to-protect-forests#:~:text=Indigenous%20communities%20safeguard%2080%25%20of,accelerating%20forest%20loss%20and%20damage.
เรียบเรียงโดย
ดร.จีรนุช ศักดิ์คำดวง
ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิจัย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย