กิจกรรม TBCSD Trip สัญจรศึกษาดูงานการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทน ก้าวใหม่ของความท้าทายด้านพลังงานในอนาคต

26 มีนาคม 2567 : องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) ได้จัด (car)กิจกรรม TBCSD Trip สัญจรศึกษาดูงานการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทน ก้าวใหม่ของความท้าทายด้านพลังงานในอนาคต  ณ จังหวัดนครราชสีมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาดูงานขององค์กรสมาชิก TBCSD เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยคณะดูงานได้เข้าเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย มีลักษณะเป็นโรงไฟฟ้าใต้ดิน (Underground Powerhouse) ทำหน้าที่เป็นแหล่งพลังงานขนาดใหญ่ให้กับภาคอีสาน และเป็นแบตเตอรี่พลังงานสะอาดที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ปัจจุบันโรงไฟฟ้าแห่งนีัมีกำลังผลิตไฟฟ้า 1,000 กิโลวัตต์ รวมทั้ง ได้ศึกษาดูงานที่ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานประเภทต่าง ๆ ทั้งจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และพลังงานหมุนเวียน รวมถึง การนำนวัตกรรมที่ทันสมัยด้วยระบบ Wind Hydrogen Hybrid ซึ่งเป็นเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานไฟฟ้าจากกังหันลมในรูปของก๊าซไฮโดรเจนมาใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าให้กับอาคารศูนย์การเรียนรู้ โดยประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นำเอานวัตกรรมดังกล่าวมาใช้เพื่อกักเก็บพลังงานไฟฟ้าและเยี่ยมชมอ่างพักน้ำตอนบนเขายายเที่ยง ซึ่งมี“กังหันลมผลิตไฟฟ้าลำตะคอง” โดยมีขนาดกำลังผลิตติดตั้งรวม 24 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยกังหันลม จำนวน 12 ต้น ต้นละ 2 เมกะวัตต์ เป็นกังหันลมแบบแกนนอน และ ได้เยี่ยมชมศูนย์สาธิตการผลิตพลังงานทดแทนจากชีวมวลและขยะ สถานีวิจัยลำตะคอง หน่วยงานในสังกัดศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทนจากชีวมวลและขยะ ภายใต้การดำเนินโครงการแก้ไขปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมและขยะชุมชนโดยเทคโนโลยีสะอาดในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา โดยในกิจกรรมดังกล่าวได้มีองค์กรสมาชิกให้เกียรติเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนทั้งสิ้น 13 องค์กร จำนวน 50 ท่าน