การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย BCG สำหรับผู้บริหารเมืองนวัตกรรม

19 เมษายน 2567 ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย BCG ในหลักสูตรผู้บริหารเมืองนวัตกรรม (Chief City Innovation Officer: CCIO) โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)  ณ ห้องพระพรหม ชั้น 3 โรงแรม อัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ

ในการบรรยายครั้งนี้ ดร.วิจารย์ ชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันประเทศไทย และโลกกำลังเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ทั้งอุณหภูมิโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  เป็นผลมาจากก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์ปล่อยออกมา  ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติรุนแรงขึ้น เช่น คลื่นความร้อน น้ำท่วม ภัยแล้ง พายุรุนแรง ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น  ธารน้ำแข็งละลาย  ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล  พื้นที่ชายฝั่งทะเล  และความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งปัญหามลพิษอากาศ ปัญหามลพิษทางน้ำ ปัญหาขยะ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ วิกฤตสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกัน  และส่งผลกระทบต่อมนุษย์  สัตว์  และสิ่งแวดล้อมโลก ดังนั้นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันด้วยหลัก BCG model จึงมีความสำคัญอย่างมากในปัจจุบัน โดย BCG Model   เป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน   โดยมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพ (Bio) อย่างคุ้มค่า  การนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ (Circular)  และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Green) การประยุกต์ใช้ BCG model ช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ   กระตุ้นการลงทุนในภาคเศรษฐกิจสีเขียว (Green Sector)   เช่น พลังงานหมุนเวียน   เกษตรอินทรีย์   และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ   ก่อให้เกิดการสร้างงาน   และเพิ่มรายได้ รวมทั้งส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า   ลดการใช้พลังงาน   ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก   ลดมลพิษ   และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ   ช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน   และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยการบรรยายครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการอบรมเพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมมีความเข้าใจถึงแนวคิด หลักการ และประโยชน์ของ Bio-Circular-Green Economy (BCG) Model เพื่อนำองค์ความรู้ไปออกแบบกลยุทธ์และแนวทางการขับเคลื่อน BCG Model ในระดับเมือง อันจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน