สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เข้าร่วมเป็นสมาชิก IPSI เมื่อพฤษภาคม 2566

กลุ่มงาน: ทรัพยากรทางบก

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เข้าร่วมเป็นสมาชิก IPSI เมื่อพฤษภาคม 2566 เพื่อผนึกกำลังและเสริมสร้างเครือข่ายการทำงานด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับภูมิภาคและในประเทศ

การริเริ่มซาโตยามา (The International Partnership for the Satoyama Initiative: IPSI) เป็นเครือข่ายระดับสากลที่ริเริ่มโดยมหาวิทยาลัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations University) และกระทรวงสิ่งแวดล้อม ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเน้นความสำคัญของสังคมที่ดำรงอยู่โดยสอดคล้องกับธรรมชาติและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพผ่านการฟื้นฟูและจัดการภูมิทัศน์การผลิตด้านสังคมและนิเวศทางบกและทะเล “Socio-Ecological Production Landscapes and Seascapes” (SEPLS) อย่างยั่งยืน United Nations University Institute for the Advanced Study of Sustainability (UNU-IAS) ทำหน้าที่เป็นหน่วยเลขาของ IPSI และมุ่งมั่นทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายของการริเริ่มซาโตยามา

ปัจจุบัน IPSI มีสมาชิกทั้งสิ้น 304 องค์กร ประกอบด้วย องค์กรระหว่างประเทศ หน่วยงานภาครัฐระดับประเทศและระดับท้องถิ่น สถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัย องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรภาคประชาสังคม  และภาคธุรกิจเอกชน

สำหรับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและส่งเสริมธรรมาภิบาลในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ IPSI ในเดือนพฤษภาคม 2566 โดยสถาบันฯ จะใช้โอกาสนี้ในการสร้างเครือข่ายการทำงานและแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป

ซาโตยามา (里山) เป็นภาษาญี่ปุ่นหมายถึงพื้นที่รอยต่อระหว่างเชิงเขาและพื้นที่ราบที่สามารถทำการเกษตรได้ หากแปลตามตัวอักษร ซาโต (里) แปลว่าหมู่บ้าน และยามา (山) แปลว่าเนินเขาหรือภูเขา ซาโตยามาได้ถูกพัฒนามานับร้อยปีผ่านกิจกรรมของมนุษย์โดยการทำการเกษตรขนาดย่อมและการใช้ประโยชน์ป่าไม้

ในปัจจุบันคำจำกัดความของแนวคิดซาโตยามาไม่ได้จำกัดอยู่แค่ความสัมพันธ์ระหว่างป่าและชุมชนเท่านั้น แต่หมายรวมถึงภูมิทัศน์ทั้งหมดรวมถึงพื้นที่ที่ใช้ทำการเกษตร จากคำจำกัดความนี้ ซาโตยามาคือภูมิทัศน์ที่ประกอบด้วยผืนป่า นาข้าว ไร่ข้าว ทุ่งหญ้า ลำธาร สระน้ำ และอ่างเก็บน้ำเพื่อการชลประทาน

ซาโตยามานอกจากจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชนและช่วยรักษาบริการของระบบนิเวศน์แล้วยังช่วยฟื้นฟูและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพผ่านความหลากหลายของถิ่นที่อยู่อาศัย เช่น นาข้าว ลำธาร บ่อน้ำ ป่าและภูเขา วิถีชีวิตที่ดำเนินไปโดยสอดคล้องกับสภาพธรรมชาติ มีการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและจำกัดผลกระทบทางลบต่อสภาพแวดล้อมเป็นสิ่งที่ทำให้ซาโตยามาคงอยู่และสามารถขยายแนวคิดไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่อื่น ๆ ได้