กลุ่มงาน: ความหลากหลายทางชีวภาพ
ความหลากหลายทางชีวภาพ ถือเป็นรากฐานสำคัญของสิ่งมีชีวิตในโลก มีบทบาทหลักในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศทั่วโลก อีกทั้งยังมีส่วนเกื้อหนุนคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดมีบทบาทที่เฉพาะเจาะจงในระบบนิเวศ มีส่วนช่วยในการสร้างเสถียรภาพและความยืดหยุ่นของระบบนิเวศ ซึ่งช่วยให้ธรรมชาติมีความสามารถในการฟื้นตัวและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ อีกทั้ง ความหลากหลายทางชีวภาพยังเป็นเสมือนเครื่องชี้วัดสุขภาพของระบบชีวิตบนโลก กล่าวคือ หากเกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ จะเป็นสัญญาณเตือนถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงของมนุษย์ ทั้งนี้ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวิตมีสาเหตุสำคัญจากหลายปัจจัย อาทิ การเพิ่มขึ้นของประชากรมนุษย์ กิจกรรมด้านการอุปโภคบริโภค การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่ยั่งยืน การพัฒนาต่าง ๆ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
จากความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ และเพื่อกระตุ้นให้ทุกคนตระหนักถึง รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน องค์การสหประชาชาติ (UN) จึงได้กำหนดให้วันที่ 22 พฤษภาคม เป็น “วันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ International Day of Biological Diversity” เพื่อรำลึกถึงวันที่อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD) เริ่มมีผลบังคับใช้ เมื่อปี พ.ศ. 2535 สำหรับวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ ในปี พ.ศ 2568 นี้ มีแนวคิดหลัก คือ “Harmony with nature and sustainable development: ความเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ซึ่งเน้นย้ำว่าการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพสามารถดำเนินไปควบคู่กับการพัฒนา โดยยึดหลักกับเป้าหมายของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2030 เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และกรอบงานคุนหมิง – มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework) โดยจุดมุ่งหมายสำคัญของวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ คือ การกระตุ้นให้ประชาชนทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงร่วมกันป้องกันภัยคุกคามที่อาจนำไปสู่การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในอนาคต พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้ดำเนินการศึกษาที่สอดคล้องกับแนวคิดข้างต้น โดยมุ่งส่งเสริมให้ชุมชนในพื้นที่ตำบลโคกกลาง อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ มีการจัดการป่าและการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพจากป่าโคกหีบอย่างยั่งยืน ชุมชนพึ่งพาทรัพยากรจากป่าโดยใช้เป็นแหล่งอาหารจากพืชผักและสัตว์ป่า เช่น เห็ดโคน เห็ดระโงก เห็ดตะไค เห็ดน้ำหมาก อึ่งเพ้า จิ้งโกร่ง (จิโป่ม) และไข่มดแดง รวมถึงใช้เป็นแหล่งสมุนไพรสำหรับรักษาโรค ชุมชนใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการเก็บหาโดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อแหล่งที่อยู่อาศัยทำให้ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพเหล่านี้ได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว ซึ่งสะท้อนถึงแนวทางการใช้ใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างรู้คุณค่าและยั่งยืน
เพราะความหลากหลายทางชีวภาพคือรากฐานของชีวิตและการพัฒนาที่ยั่งยืน เราทุกคนมีบทบาทร่วมกันดูแล อนุรักษ์ และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างรู้คุณค่า เพื่อความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตและความสมดุลของระบบนิเวศ
Share: