กลุ่มงาน: ความหลากหลายทางชีวภาพ
เต่าทุกสายพันธุ์มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ และเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งที่อยู่อาศัยที่เต่าอาศัยอยู่ ทั้ง เต่าบก เต่าน้ำ/เต่าน้ำจืด และเต่าทะเล แต่จากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปจากการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ธรรมชาติเดิมไปทำการเกษตร การพัฒนาแหล่งน้ำเช่น การสร้างเขื่อน การปรับพื้นที่ชายหาดเพื่อการท่องเที่ยว รวมถึงการสร้างมลภาวะจากมนุษย์ ทำให้แหล่งที่อยู่อาศัยและวางไข่ที่เหมาะสมของเต่าลดลง การเกิดไฟป่า การล่าเพื่อเป็นอาหารและนำไปทำยา หรือนำมาเป็นสัตว์เลี้ยง การปนเปื้อนมลพิษในดิน น้ำและขยะ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เต่าหลายชนิดทั่วโลกตกอยู่ในสภาวะถูกคุกคามและใกล้สูญพันธ์
ตัวอย่างเต่าในประเทศไทยที่สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN - International Union for Conservation of Nature) ปี ค.ศ.2018 ได้จัดสถานภาพการอนุรักษ์ให้เป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (CR - Critically Endangered) เช่น เต่าปูลูหรือเต่าปากนกแก้ว เต่าลายตีนเป็ด เต่ากระอาน เต่าจัน เต่าหก เต่าเหลือง เต่าหวาย เต่าบัว เต่ากระ เป็นต้น และเต่าที่มีสถานภาพการอนุรักษ์เป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ (EN - Endangered) เช่น เต่าจักรหรือเต่าหนาม เต่าจัน เต่าดำ เต่าหับ เต่าเดือย เต่าตนุ เป็นต้น
เนื่องในวันเต่าโลก TEI ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ระบบนิเวศอันเป็นบ้านของเต่าทุกสายพันธุ์ และรณรงค์การจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางรวมถึงลดการปล่อยมลพิษในทุกด้านเพื่อลดการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม เพื่อให้เต่ายังคงอยู่คู่กับโลกของเราสืบไป
Share: