3 กรกฎาคม วันปลอดถุงพลาสติกสากล (International Plastic Bag Free Day)

กลุ่มงาน: ขยะพลาสติก

สืบเนื่องจาก ปัญหาขยะถือว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลกในปัจจุบัน ซึ่งหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย นั่นก็คือ ปัญหา “ขยะพลาสติก” โดยจากธีมของวันสิ่งแวดล้อมโลกที่ผ่านมาจะเห็นว่าประเด็นปัญหามลพิษพลาสติกได้ถูกนำมาใช้เป็นธีมวันสิ่งแวดล้อมโลก โดยในปีนี้ “วันสิ่งแวดล้อมโลก” (World Environment Day) ได้มาพร้อมกับธีม Beat Plastic Pollution “ยุติมลพิษจากพลาสติก” อันเป็นการส่งสัญญาณเตือนวิกฤตมลพิษจากพลาสติก

สำหรับประเทศไทยถูกจัดลำดับเป็นประเทศต้น ๆ ที่สร้างขยะพลาสติก โดย 1 ใน 3 ของขยะพลาสติกดังกล่าวถูกกำจัดโดยวิธีการที่ไม่ถูกต้องจึงเกิดการหลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อมและแตกสลายตัวกลายเป็นไมโครพลาสติก (Micro-Plastics) ตกค้างสะสมทั้งในทะเล แหล่งน้ำต่าง ๆ และตะกอนดิน และเนื่องจากไมโครพลาสติกมีขนาดอนุภาคที่เล็กมาก จึงสามารถแพร่กระจายออกสู่สิ่งแวดล้อมได้ง่ายขึ้นทำให้สิ่งมีชีวิตที่อาศัยในทะเลกลืนกินไมโครพลาสติกเข้าไปเกิดการสะสมในห่วงโซ่อาหาร (Food Chain) ซึ่งจะส่งผลเสียต่อระบบนิเวศทางทะเลโดยรวมและปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ โดยจากการประเมินพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วคน ๆ หนึ่งจะกินพลาสติกเข้าไปมากกว่า 50,000 ชิ้นต่อปี

โดยปัจจุบันทั่วโลกมีการผลิตพลาสติกมากกว่า 400 ล้านตันต่อปี มากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นพลาสติกใช้ครั้งเดียว (Single-use plastic) ซึ่งกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ไม่ถึงร้อยละ 10 รวมทั้งยังก่อให้เกิดไมโครพลาสติกปะปนอยู่ในสิ่งแวดล้อม อีกทั้ง ได้มีการคาดการณ์ว่าภายในปี ค.ศ. 2050 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากพลาสติกจะคิดเป็นร้อยละ 15 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด สำหรับประเทศไทย มีการผลิตพลาสติกประมาณ 9 ล้านตันต่อปี โดยร้อยละ 36 เป็นพลาสติกใช้ครั้งเดียว ซึ่งจากข้อมูลในปี พ.ศ. 2567 ระบุว่า ประเทศไทยมีปริมาณขยะพลาสติกราวจำนวน 2.88 ล้านตัน แต่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้เพียงร้อยละ 25 เท่านั้น จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการจัดการปัญหาอย่างเร่งด่วนของการพัฒนาระบบการจัดการขยะพลาสติกที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หากไม่มีมาตรการจัดการที่จริงจังและต่อเนื่อง ได้คาดการณ์ว่าอาจจะส่งผลกระทบในอีก 25 ปีข้างหน้า ปริมาณขยะพลาสติกในทะเลอาจมีจำนวนมากกว่าจำนวนปลาในทะเล พลาสติกที่ถูกทิ้งจะยังคงตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม หลงเหลืออยู่ในระบบนิเวศ และจะปนเปื้อนกลับเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านทางห่วงโซ่อาหาร ซึ่งส่งผลกระทบทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมนุษย์

ดังนั้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงจากการใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยเฉพาะถุงพลาสติก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของปริมาณขยะพลาสติกที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมและยากต่อการย่อยสลาย โดยองค์กร Plastic Bag Free World ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของเครือข่ายองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลกจึงได้ประกาศให้วันที่ 3 กรกฎาคม ของทุกปี เป็น “วันปลอดถุงพลาสติกสากล” หรือ International Plastic Bag Free Day โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในระดับโลกถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการใช้ถุงพลาสติก พร้อมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หันมาใช้ถุงผ้า ถุงกระดาษ หรือตะกร้า ทดแทนการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และสนับสนุนการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพราะการลดขยะพลาสติกไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่คือ “ภารกิจร่วมกัน” ของทุกภาคส่วนในการลดการใช้ถุงพลาสติกร่วมกันอย่างยั่งยืน

โดยวิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด คือ การลดขยะตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมบูรณาการความร่วมมือกันในการลดการใช้งานพลาสติกที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะการลด ละ เลิก การใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-used plastic) และการนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาปรับใช้ในการจัดการขยะพลาสติกอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ภาคการผลิต การบริโภค ไปจนถึงการจัดการของเสียด้วยกระบวนการใช้ซ้ำ (Reuse) หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) และการผลิตใหม่ (Re-material) โดยเป็นแนวทางหนึ่งที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลว่าเป็นทางออกสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน แต่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมจำเป็นต้องมีการจัดการและเเยกขยะอย่างถูกวิธี ตั้งแต่ต้นทางเพื่อให้ง่ายสำหรับการนำไปผ่านกระบวนการต่าง ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดวงจรการจัดการขยะที่สมบูรณ์ ซึ่งในอนาคต หากประเทศไทยสามารถบูรณาการการพัฒนาระบบจัดการพลาสติกและเศรษฐกิจหมุนเวียนเข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ ก็จะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจสีเขียวที่สมบูรณ์ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มควบคู่กับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและรักษาสิ่งแวดล้อมไว้ได้อย่างยั่งยืน

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI ได้ร่วมดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกับองค์กรภาคีทุกภาคส่วนในการเดินหน้ายกระดับนโยบายการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ตามแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570) โดยการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนร่วมกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หันมาใช้ถุงผ้าใช้ภาชนะหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น พร้อมทั้ง ร่วมสร้างการบูรณาการความร่วมมือเพื่อสร้างระบบนิเวศเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circularity Ecosystem) สำหรับพลาสติกให้เกิดขึ้นได้จริงในประเทศ เพื่อเป็นการขับเคลื่อนระบบการจัดการพลาสติกตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนของพลาสติกให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมตอบสนองต่อทิศทางนโยบายของประเทศตามมาตรการด้านมลพิษจากพลาสติก (Global Plastic Treaty) ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญนำไปสู่การยุติมลพิษพลาสติก
 
TEI พร้อมร่วมสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสังคมไทย ไปสู่การใช้พลาสติกอย่างชาญฉลาด และการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ คือ ก้าวสำคัญในการลดปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน”


เรียบเรียงโดย
ภิญญดา เจริญสิน 
ผู้จัดการโครงการอาวุโสและรักษาการผู้อำนวยการฝ่ายเครือข่ายสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
แหล่งที่มาของข้อมูล:
นักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (https://www.onep.go.th/)