วันที่ 2 การประชุมเชิงปฏิบัติการ “การขับเคลื่อนเรื่องเมืองและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สู่นโยบายสาธารณะ”

4 ตุลาคม 2565 ภายใต้การประชุมใหญ่ปี 2565 “เมืองรู้ร้อนรู้หนาว เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง”  เสร็จสิ้นไปอีกหนึ่งวัน สำหรับภารกิจสำคัญในการร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางในการผลักดันประเด็นของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับพื้นที่ เข้าสู่แผนพัฒนาระดับท้องถิ่น ระดับชาติ โดยมองภาพรวมของเมืองเชิงระบบ ได้แก่ บุคคล/หน่วยงาน/องค์กร ระบบเมืองและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงวิถีปฏิบัติ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการผลักดันนโยบายแบบล่างขึ้นบน (bottom-up) โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมบรรยายและให้ความรู้เรื่อง ความก้าวหน้าและทิศทางของนโยบายและแผนด้านการพัฒนาเมืองและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย และทาง SCF และ CSNM ได้นำเสนอสถานการณ์ของแผนพัฒนาและนโยบายและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของภาคใต้และภาคอีสาน รวมทั้ง ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ นำเสนอให้ชวนคิดเรื่อง “ทำไมเมืองและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องปรับตัว เตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” และยังได้รับการแบ่งปันประสบการณ์การศึกษาของ ผศ.ดร.ยรรยงค์ อินทร์ม่วง เกี่ยวกับ บทเรียนน้ำท่วมจากบ้านไผ่จากพายุโพดุล และรับฟังการบรรยายพิเศษจากคุณสาโรจ ศรีใส คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เรื่อง บทบาทของ EU ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาเมือง และความสำคัญของ European Green Deal กับประเทศไทย 

ในช่วงบ่ายมีการเสวนาในหัวข้อ “นโยบายพัฒนาเมืองและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สำคัญ ระดับพื้นที่สู่ระดับชาติ” โดยได้รับเกียรติจากวิทยากร ได้แก่ คุณปิยวรรณ ชูนวล หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการผังเมือง สำนักโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสงขลา คุณสุริยา ยี่ขุน นายกเทศมนตรีตำบลปริก คุณสาคร สงมา Climate Watch Thailand ดร.สมพร สิริโปราณานนท์ ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดสงขลา ศาสตราจารย์กิติคุณ ศ.สุริชัย หวันแก้ว โดยได้รับฟังมุมมองแนวคิดของแต่ละท่านที่เป็นตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านผังเมือง ผู้บริหารเมือง ภาควิชาการ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ถึงของการกลายเป็นเมืองและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะส่งผลต่อชุมชนเมือง และการเตรียมตัวของแต่ละภาคส่วนจะช่วยสนับสนุนให้ชุมชนเมืองมีศักยภาพในการเตรียมพร้อมมากขึ้น ทั้งนี้ยังได้รับฟังสถานการณ์ของการปรับปรุงผังเมืองให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันโดยยึดหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้มีการกำหนดธรรมนูญผังเมือง ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นเครื่องมือที่ชุมชนสามารถมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ที่ดินได้มากขึ้น