ติดตามประเมินผลความก้าวหน้าและหนุนเสริมโครงการนำร่อง (พื้นที่ภาคใต้) ครั้งที่ 1

9-14 กรกฏาคม 2566 ภายใต้โครงการ SUCCESS สนับสนุนโดยสหภาพยุโรป ติดตามประเมินผลความก้าวหน้าและหนุนเสริมโครงการนำร่อง (พื้นที่ภาคใต้) ครั้งที่ 1 นำโดย ดร.ผกามาศ ถิ่นพังงา ร่วมกับมูลนิธิชุมชนสงขลา (SCF) ลงพื้นที่ติดตามประเมินผลความก้าวหน้าและหนุนเสริมโครงการนำร่อง (พื้นที่ภาคใต้) ครั้งที่ 1  สรุปประเด็นสาระสำคัญได้ดังนี้
  1. จังหวัดสงขลา (เมืองปาดังเบซาร์+เมืองบ่อยาง+เมืองควนลัง+เมืองพะตง) ทำกิจกรรมได้ตามแผนงานโครงการฯ ต้องเพิ่มเติมในส่วนของการเก็บข้อมูลชุมชนให้ละเอียดมากขึ้น ทั้งจากแบบสอบถาม การทำกระบวนการกลุ่ม และแผนที่เดินดิน  เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และทำแผนชุมชนจากการได้มาซึ่งข้อมูลพื้นฐานชุมชน ก่อนนำมาคืนข้อมูลและหาแนวทางในการทำแผนชุมชน กติการ่วม หรือธรรมนูญชุมชน ต่อยอดไปสู่การจัดตั้งองคืกรชุมชน เพื่อทำงานอย่างต่อเนื่อง
  2. จังหวัดพัทลุง (เมืองโตนดด้วน) ทำกิจกรรมเป็นไปตามแผนงาน มีการเชื่อมร้อยประสานภาคีเครือข่ายในระดับเมือง ผ่านการทำงานร่วมกับ อบจ. ผ่านกลไกการทำฝายมีชีวิต เพื่อใช้ชะลอน้ำท่วมและกักเก็บน้ำในช่วงน้ำแล้ง อาจต้องเพิ่มเติมประเด็นในส่วนผู้ได้รับประโยชน์จากฝายทั้ง 3 แห่ง ว่าใครคือผู้ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรม เพื่อนำมาเป็นตัวชี้วัดต่อยอดไปสู่การทำงานในระดับตำบล อำเภอ และจังหวัดได้
  3. จังหวัดสตูล (เมืองละงู) กิจกรรมเป็นไปตามแผนงาน แต่ติดปัญหาในพื้นที่ต้นน้ำเรื่องความร่วมมือ เพราะเขาไม่เข้าใจว่าเรามาทำอะไร และจะได้ประโยชน์อย่างไร แต่เมื่อคณะทำงานได้ลงพื้นที่จัดประชุมและชี้แจ้งในพื้นที่ ได้รับความร่วมมือและตอบรับมากขึ้น ในการฟื้นฟูลุ่มน้ำคลองละงุ ต้องทำงานในภาพใหญ่ระดับจังหวัด จึงเน้นการทำงานสร้างภาคีเครือข่ายพร้อมทั้งรื้อฟื้นข้อมูลลุ่มน้ำจากอดีตสู่ปัจจุบันให้เห้นความเปลี่ยนแปลงและมองภาพผลกระทบในอนาคตร่วมกัน ทั้งนี้จะมีการเชิญชุมชนลุ่มน้ำคลองดุสน ที่ทำงานด้านลุ่มน้ำมานานมาช่วยแลกเปลี่ยนและให้คำแนะนำในการทำงาน เพื่อให้ได้มาซึ่งองค์กรชุมชน และธรรมนูญสายน้ำ
โดยสรุปแนวทางหลัก ๆ ของการดำเนินโครงการฯ ของทั้ง 3 จังหวัด ยังเน้นที่การสร้างเครือข่ายภาคี รื้อฟื้นทำความเข้าใจร่วมกัน การเก็บข้อมูลพื้นฐานชุมชนผ่านเครื่องมือศึกษาชุมชนทั้ง 7 ชิ้น ร่วมทั้งวางโครงสร้างต่างๆ ในการขยับตัวก่อตั้งเป็นองค์กรชุมชนสร้างความยั่งยืนในการดำเนินงานให้ต่อเนื่อง  ทั้งนี้ในขั้นตอนต่อไปทั้ง 3 จังหวัด เห็นร่วมกันว่าต้องการใช้เครื่องมือ แผนผังภูมินิเวศ โดยทางทีมได้ประสาน ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ มาเป็นวิทยากรให้ความรู้ถึงหลักการ แนวทางการนำแผนผังภูมินิเวศไปใช้ในการวางแผน และทำแผนผังภูมินิเวศ ในวันที่ 16 สิงหาคม 2566 ที่จังหวัดสงขลา ต่อไป