สรุปการดำเนินงานโครงการนำร่องปีที่ 4 ร่วมกับคณะกรรมการที่ปรึกษาระดับชาติ และรับฟังข้อเสนอแนะเพื่อขับเคลื่อนโครงการปีที่ 5

ประชุมสรุปการดำเนินงานโครงการนำร่องปีที่ 4 ร่วมกับคณะกรรมการที่ปรึกษาระดับชาติ และรับฟังข้อเสนอแนะเพื่อขับเคลื่อนโครงการปีที่ 5 วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ผ่านระบบ Zoom Meeting

โครงการ SUCCESS สนับสนุนโดยสหภาพยุโรป สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย นำโดย ดร.ผกามาศ ถิ่นพังงาร่วมกับมูลนิธิชุมชนสงขลา (SCF) ศูนย์ประชาสังคมและการจัดการองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (CSNM) และตัวแทนแกนนำทีมโครงการนำร่องทั้ง 7 โครงการ จัดประชุมนำเสนอสรุปผลการดำเนินโครงการนำร่อง โดยเน้นการนำเสนอการสังเคราะห์ผลผลิต ผลลัพธ์ และสะท้อนภาพรวมช่องว่างและอุปสรรค รวมถึงการต่อยอดนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับนโยบายในแต่ละพื้นที่ พร้อมกับนำเสนอ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการด้านการเตรียมพร้อมของชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และร่วมรับฟังข้อเสนอแนะในการปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติม (ร่าง) ยุทธศาสตร์ฯ เพื่อนำไปสู่แนวทางการปรับแผนยุทธศาสตร์ให้มีความครอบคลุม เหมาะสม และสอดคล้องตามเป้าหมายของโครงการ โดยคณะกรรมการที่ปรึกษาระดับชาติ (NAC) ประกอบด้วย ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์, ศ.สุริชัย หวันแก้ว และ ผศ.ดร.ยรรยงค์ อินทร์ม่วง สรุปประเด็นข้อเสนอแนะสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนขับเคลื่อนโครงการและการผลักดันแผนการปฏิบัติงานเพื่อให้โครงการนำร่องประสบความสำเร็จได้ดังนี้
  1. แต่ละโครงการนำร่องต้องให้ความสำคัญ ทำให้ชัดเจนและตรงประเด็น คือ
    1. โครงการทำไปแล้ว มีผลลัพธ์ที่เป็นความภาคภูมิใจคืออะไรบ้าง
    2. สิ่งใดจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุง แก้ไข และสิ่งที่ต้องการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงยกระดับเพิ่มขึ้น
  2. จำเป็นต้องหาประเด็น Entry Point ที่มีความเฉียบคมและชัดเจน เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านมโนทัศน์ของผู้บริหารเมืองให้ได้ จึงจะขับเคลื่อนให้เกิดการผลักดันแผนรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่แผนของท้องถิ่นได้
  3. จุดเด่นของโครงการ SUCCESS คือ ข้อมูลระดับครัวเรือน ชุมชน ตำบล ลุ่มน้ำ ซึ่งมีการเก็บข้อมูลโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนเอง เป็นข้อมูลเชิงลึกและเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ ซึ่งสำคัญต่อการนำไปใช้ในการตัดสินใจวางแผนของภาครัฐที่เกี่ยวข้องอย่างมาก ดังนั้นประเด็นเรื่องการแบ่งปันข้อมูลให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้นั้นเป็นโจทย์ที่สำคัญของแต่ละโครงการ รวมถึงต้องคำนึงถึงการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ มีคุณภาพ และช่องทางในการแบ่งปันข้อมูลเพื่อให้ทุกคน ทุกหน่วยงาน สามารถเข้าถึงข้อมูล นำไปสู่การตัดสินใจและเกิดการเปลี่ยนแปลงของเมืองไปในทางที่ดีขึ้นได้
  4. ความสำเร็จของการดำเนินโครงการสามารถวัดการประสบความสำเร็จได้จากการเปลี่ยนทัศนคติของผู้บริหารเมือง เปลี่ยนความเชื่อ เปลี่ยนการยอมรับข้อมูลเชิงลึก (หรือการเปลี่ยน Theory of Change)
  5. การสร้างการเรียนรู้ใหม่ของสังคมไทย อาจะต้องมองเรื่องการยกระดับการทำงานเพื่อการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ท้องถิ่น ให้ความสำคัญกับเครื่องมือที่ทุกคนสามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่ต่างไปจากเดิม การสร้างการเมืองใหม่คือการเมืองที่ตัดสินใจเชิงสาธารณะมากขึ้นซึ่งจะต้องเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาได้อย่างเท่าเทียม