ACCCRN

เครือข่ายเมืองในเอเชีย เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

Asian Cities Climate Change Resilience Networks

โครงการ ACCCRN ประเทศไทย ระยะที่ 3

บทนำ

จากการดำเนินโครงการที่ผ่านมา เมืองเชียงรายและเมืองหาดใหญ่ได้มีการพัฒนาศักยภาพเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจต่อเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมีส่วนร่วมในการกำหนดยุทธศาสตร์ว่าด้วยผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเมือง มีการเรียนรู้และรู้จักเครื่องมือที่จะใช้ในการจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นำไปสู่การจัดทำแผนยุทธศาสตร์และโครงการนำร่องที่มีความเหมาะสมกับประเด็นยุทธศาสตร์ ได้แก่

โครงการเครือข่ายบริหารจัดการอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา ซึ่งเป็นโครงการนำร่องของเมืองหาดใหญ่ โดยมุ่งเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายความร่วมมือป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยการสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบเตือนภัยที่สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยเพื่อสร้างตัวแบบ (Model) ในการจัดการและรับมือกับอุทกภัยโดยการมีส่วนร่วมในชุมชนที่เปราะบาง

โครงการพัฒนาเขตเมืองเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นโครงการนำร่องของเมืองเชียงราย มีวัตถุประสงค์หลักในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

โดยอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่แหล่งน้ำหนองปึ๋งให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตอย่างพอเพียง และเป็นแหล่งชะลอการไหลของน้ำในฤดูน้ำหลาก ผลที่ได้รับจากโครงการคือ มีการพัฒนาหนองปึ๋งโดยการขุดลอกคลองระบายน้ำที่มีการตื้นเขิน มีการปรับแต่งตลิ่งเพื่อป้องกันการทรุดตัวและสามารถรับน้ำหลากได้มากขึ้น อีกทั้งยังผสมผสานกิจกรรมการเพิ่มพื้นที่สีเขียว

จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของทั้ง 2 เมืองนำร่องจึงนำไปสู่การดำเนินการในระยะที่ 3

ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

วัตถุประสงค์โครงการ

วัตถุประสงค์หลักของการดำเนินโครงการ ACCCRN ในระยะที่ 3 ของประเทศไทย คือ การเสริมความเข้มแข็งให้กับเมืองเครือข่ายในการสร้างการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว และเพื่อผลักดันให้การรับมือต่อสภาพภูมิอากาศในระดับเมืองไปสู่นโยบายด้านสภาพภูมิอากาศในระดับประเทศ

เป้าหมาย

มุ่งให้เมืองเชียงรายและเมืองหาดใหญ่มีการวางแผน การประสานงาน และนำยุทธศาสตร์ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปใช้ อีกทั้งส่งเสริมให้เกิดการเผยแพร่บทเรียนและเครื่องมือที่สร้างขึ้นจากโครงการ ACCCRN และรวมถึงมุ่งประเด็นหลักไปยังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระดับชาติ เพื่อร่วมมือกันในการพัฒนานโยบายการปรับ ตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติต่อไป

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

เมืองเครือข่ายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องของเชียงรายและหาดใหญ่ มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องความเปราะบางต่อสภาพภูมิอากาศท้องถิ่นมากขึ้น ผ่านกระบวนการวางแผนการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเมืองในโครงการ ACCCRN โดยมีมาตรการการปรับตัวและยุทธศาสตร์การรับมือในการลดความเปราะบางของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในแต่ละเมืองเครือข่าย ที่นำไปปฏิบัติได้จริงในระดับท้องถิ่น เพื่อเพิ่มความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของกลุ่มคนเปราะบาง

รวมไปถึงทางคณะทำงานของเมืองสามารถดำเนินโครงการที่ได้รับอนุมัติทุนสนับสนุนจากมูลนิธิร๊อคกี้เฟลเลอร์ ให้บรรลุความสำเร็จตามวัตถุประสงค์เพื่อนำไปสู่การวางแผน การปรับปรุงยุทธศาสตร์ และการมีส่วนร่วมร่วมกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องสำหรับการเปลี่ยนแปลงนโยบาย และทางสมาคมสันนิบาตแห่งประเทศไทยจะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานระดับท้องถิ่น และหน่วยงานระดับชาติ โดยทำหน้าที่เป็นจุดศูนย์รวมความรู้เรื่องสภาพภูมิอากาศในระดับท้องถิ่น และช่วยพัฒนาเครื่องมือในการรับมือและการปรับตัวของเทศบาลและหน่วยงานท้องถิ่นให้ดีขึ้น นำไปสู่การเผยแพร่บทเรียน การวางแผนการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเมือง ไปยังเครือข่ายของสมาคมสันนิบาตแห่งประเทศไทยที่มีอยู่

อีกทั้งยังคาดว่าจะมีการผลักดันการรับมือและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่นโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับประเทศและบูรณาการเข้ากับแผนการพัฒนาเพื่อให้เกิดการขยายผลไปยังเมืองต่างๆ ในประเทศไทยอีกด้วย

ACCCRN

เครือข่ายเมืองในเอเชีย เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
Asian Cities Climate Change Resilience Networks

Get In Touch